นักปรับปรุงพันธุ์เมลอน
ด้วยสถานการณ์ที่ผ่านมาโลกเรามีการพัฒนาปรับตัวอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นสภาวะแวดล้อม หรือปัจจัยภายนอกอื่น ๆ เช่น โรคแมลงที่ส่งผลกระทบต่อกระบวนการผลิตทางการเกษตรส่งผลกระทบในวงกว้าง ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพและสภาพแวดล้อม ดังนั้นนักวิชาการที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยด้านการเกษตรซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการผลิตพืชผลทางการเกษตร ซึ่งจะต้องมีการปรับตัว และพยากรณ์คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาให้เกษตรกรให้ได้ผลผลิตทางการเกษตรที่ดีมีคุณภาพ ช่วยลดต้นทุนในการผลิต และยกระดับมาตรฐานสินค้าทางการเกษตรได้ ตลอดจนผู้บริโภคได้บริโภคผลผลิตที่มีความปลอดภัยต่อสุขภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีนักปรับปรุงพันธุ์พืชเข้ามาแก้ไขปัญหาด้วยการปรับปรุงพันธุ์พืชชนิดต่าง ๆ เพื่อสร้างสายพันธุ์ใหม่ ๆ ให้ได้ผลผลิตที่ดี และทนทานต่อโรคและสภาพแวดล้อมที่เข้ามามีผลกระทบในกระบวนการผลิต สำหรับสาขาวิชาพืชสวน ภาควิชาพืชศาสตร์และปฐพีศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย นายกมล ทิพโชติ นักวิทยาศาสตร์เกษตร ได้เลือกที่จะปรับปรุงพันธุ์เมลอน ซึ่งเป็นที่นิยมของผู้บริโภคในปัจจุบัน เมลอนเป็นพืชตระกูลแตงสำหรับประเทศไทยแล้วยุคแรก ๆ ต้องนำเข้าเมล็ดพันธุ์ เมลอนจากประเทศญึ่ปุ่นทั้งหมด แต่เนื่องจากสภาพแวดล้อม ภูมิอากาศ และวัฒนธรรมการกินที่ต่างกัน โดยนิสัยของคนญี่ปุ่นมักนิยมทานพันธุ์ที่หวานฉ่ำ แตกต่างจากคนไทยที่นิยมทานพันธุ์ที่หวานกรอบ ดังนั้นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่เลือกปรับปรุงพันธุ์เมลอนให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคในประเทศไทย โดยลักษณะนิสัยของเมลอนเป็นพืชที่ต้องการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษมากกว่าพืชชนิดอื่นในวงศ์เดียวกัน ดังนั้นวิธีการหากปลูกในโรงเรือนจะสามารถบริหารจัดการในเรื่องโรคและแมลงได้ง่ายกว่าปลูกในพื้นที่โล่งแจ้ง
กระบวนการหรือขั้นตอนในการปรับปรุงพันธุ์ นักวิจัยจะทำการคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีความโดดเด่นที่แตกต่างกันแล้วนำเมล็ดพันธุ์ไปปลูกต่อ เมื่อถึงระยะเวลาออกดอก ทำการผสมดอก คัดเลือก ทำขั้นตอนเดียวกันซ้ำ ประมาณ 5-6 รุ่น จนได้สายพันธุ์แท้ โดยแต่ละรุ่นใช้ระยะเวลา 3 เดือน แล้วนำสายพันธุ์แท้มาสร้างสายพันธุ์ลูกผสมได้พันธุ์ผสมรุ่นที่ 1 ออกมา ที่ตรงกับความต้องการมากที่สุด เช่น ต้องการความหวานกรอบ ละมุนลิ้น เปลือกหนาเหมาะสำหรับการขนส่ง จากกระบวนการต่าง ๆ จะใช้ระยะเวลาค่อนข้างนานกว่าที่จะได้พันธุ์ที่สมบูรณ์ ดังนั้นนักปรับปรุงพันธุ์ต้องมีความอดทนในการที่จะทำการปรับปรุงพันธุ์ในพืชแต่ละชนิด แต่ถ้าหากได้เมล็ดพันธุ์ที่ได้สมบูรณ์แล้วผลลัพธ์ที่ได้จะมีมูลค่ามหาศาล ถ้าในมุมมองของการช่วยแก้ปัญหาให้เกษตรกรสามารถเพิ่มจำนวนผลผลิตและคุณภาพได้ นอกจากนั้นมูลค่าที่ได้จากการปรับปรุงพันธุ์ 1 เมล็ด มีมูลค่าราคาสูงถึง 5–10 บาท ในกรณีของผู้บริโภคปลายทางก็จะได้รับประทานเมล่อนที่มีความปลอดภัยส่งผลดีต่อสุขภาพ
สำหรับการเลือกเมลอนที่มีความนิยมในปัจจุบันจะสังเกตบริเวณผิวเมลอนจะมีการแตกลายสม่ำเสมอไปจนถึงขั้วผลและมีค่าความหวานอยู่ระดับ 12-14 Brix แสดงว่าเมลอนแก่จัดเหมาะที่จะรับประทานได้ สำหรับท่านใดที่สนใจพันธุ์เมลอนลูกผสมที่ทางภาควิชาฯ ทำการปรับปรุงอยู่ ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนการทดสอบระยะสุดท้าย ผลผลิตคาดว่าจะมีให้ชิมและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ ในงานเกษตรภาคเหนือครั้งที่ 10 ระหว่างวันที่ 1-12 ธันวาคม 2565 ณ ศูนย์วิจัย สาธิตและฝึกอบรมการเกษตรแม่เหียะ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สาขาวิชาพืชสวน ภาควิชาพืชศาสตร์และปฐพีศาสตร์ 092-3315353